วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

คุณเคยบริจาคสิ่งของให้เด็กดอยไหม? "เมื่อฉันเป็นครู"



คุณเคยไปบริจาคสิ่งของให้เด็กดอยไหมครับ?   "เมื่อฉันเป็นครู"      

   
            สวัสดีครับแฟนๆทั้งหลาย วันนี้ครูจะมาเล่าประสบการณ์ครั้งเมื่อไปบริจาคสิ่งของให้โรงเรียนบนดอยสูงเมื่อเดือนมกราคม 2562ที่ผ่านมา ก่อนที่ครูจะเอาไปบริจาคนั้นตอนแรกครูคิดว่าจะเอาแค่หนังสือและอุปกรณ์การเรียนไปบริจาคเท่านั้น แต่ว่าตอนที่เราประกาศรับบริจาคเมื่อเดือนเมษายน 2561นั้น ครูประกาศทางเฟสบุคว่ารับบริจาคเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของเล่น ตุ๊กตา หนังสือ อุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ แต่ของที่ได้รับบริจาคนั้นส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า 70% ตุ๊กตาของเล่น25% ส่วนหนังสือ5% เท่านั้นเอง พอได้มาก็ให้คนที่บ้านช่วยคัดแยกเอาที่ดีๆพอใช้ได้ ที่ใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป ครูขนมาจากที่บ้าน อ.กันทรลักษ์(ทุเรียนภูเขาไฟ) จ.ศรีสะเกษ ขนไปที่เชียงราย ครูเป็นคนศรีสะเกษแต่ได้มาบรรจุเป็นครูที่เชียงราย เพราะว่าอยากเป็นครูบนดอยเลยมาสอบครูที่เชียงรายและก็สอบติดด้วย แต่ว่าไม่ได้สอนโรงเรียนที่อยู่บนดอยนะครับ 
           ครูขนมาดองไว้ที่เชียงราย9เดือนเต็มๆ เพื่อรอจังหวะดีๆ จังหวะดีๆหมายถึงฤดูหนาว ให้พ้นหน้าฝนไปก่อนไม่อย่างนั้นขึ้นดอยไม่ได้ เพราะรถที่จะขึ้นดอยนั้นต้องเป็นรถกระบะยกสูงคือถ้าหน้าฝนรถทั่วไปติดหล่มแน่นอนครับ ครูใช้เวลาค้นหาโรงเรียนบนดอยที่ทุรกันดารเป็นเดือนค้นหาในอินเตอร์เน็ตนั่นแหละครับ ในที่สุดก็ได้โรงเรียนที่ถูกใจ โรงเรียนบ้านผาลั้ง ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย มีนักเรียนประมาณ20คน ครู3คน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ท้ายสุดของถนนเส้นนั้น ครูไปบริจาคถึง2รอบ เพราะรอบแรกขนไปไม่หมดคือไม่อยากเสี่ยงมันหนักมากและขึ้นดอยด้วย คนที่ไปด้วยเป็นนักเรียนผู้หญิง4คน ก่อนจะไปบริจาคนั้นครูได้ให้นักเรียนช่วยกันคัดแยกอีกรอบ โดยแยกเสื้อผ้าเป็นประเภทของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง เพื่อให้ง่ายต่อการบริจาค ก่อนที่จะเดินทางนั้นครูต้องโทรเช็คที่โรงเรียนผาลั้งตลอดว่าวันนี้ไปได้ไหม เส้นทางแห้งหรือยัง อยู่ในสภาพปลอดภัยไหม
          รอบแรกเราไปบริจาค วันที่27 มกราคม 2562 กับนักเรียนหญิงชั้น ม.4จำนวน 4คน รอบที่2ไปบริจาคที่เดิมวันที่15กุมภาพันธ์ 2562 กับนักเรียนหญิงชั้น ม.3 จำนวน 4คน



          ถึงเวลาเดินทางละครับ ครูไปโดยรถกระบะ โตโยต้า รีโว่ ตัวต่ำ รอบแรกเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะเป็นครั้งแรกของครูและมีเด็กนักเรียนหญิง ม.4 จำนวน 4คน ไปด้วย ถ้าติดหล่มมาจะทำยังไง ถ้ารถเสียจะทำยังไง ลึกๆแล้วมีความกังวลอยู่มากเหมือนกัน เราออกจากบ้านไปประมาณเวลา16.00นาฬิกา ขับตามGPSนั่นแหละครับ เส้นทางนั้นตอนแรกๆก็เป็นลาดยางพอครึ่งทาง30กิโลหลังนั้นมีคอนกรีตบ้างลูกรังบ้างขึ้นดอยลงดอยบ้างข้างๆก็เป็นหุบเหวสลับกันไปแบบนี้จนถึงโรงเรียนเลยครับ เด็กๆเวียนหัวจะอวกสุดทาง ช่วงเดินทางนั้นก็จะมีรถสวนทางมาเป็นระยะ สิ่งที่ทุกท่านไม่เคยเห็นนั้นคือจะมีมอเตอร์ไซค์หนึ่งคัน ที่อยู่ข้างหน้าเรา มีพ่อแม่ลูกซ้อนกันอยู่ จะมีเด็กทารกที่ถูกมัดด้วยผ้าขาวม้าติดกับหลังของแม่ คือเราจะเห็นหัวเด็กโผล่มาจากผ้าเป็นระยะ คือทุกครั้งที่มอเตอร์ไซค์ตกร่องและเด้งขึ้นมานั่นแหละจะเห็นตอนนั้นแหละครับ รู้สึกประหลาดในการใช้ชีวิตของคนบนดอยมาก ข้างทางนั้นจะมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก เราจอดแวะถ่ายรูปกับต้นพญาเสือโคร่ง2จุด เราไปตอนเย็นกลับลงจากเขาค่ำก็เลยแวะถ่ายรูปได้ไม่เยอะ เส้นทางบางช่วงนั้นก็จะมีหมู่บ้านมีสถานีอนามัย มีที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยชมภู และมีโรงเรียนเห็นเด็กนักเรียนเดินกลับบ้านทำให้เรารู้สึกว่าในป่าในดอยยังมีหมู่บ้านอยู่อีกเหรอ คนต่างถิ่นก็คงจะรู้สึกงงงวยแบบนี้หละกระมั้งฮาๆๆ











           ระหว่างการเดินทางที่อันตรายและน่ากลัวที่สุดคือช่วงที่สัญญาณGPSขาด และโทรติดต่อกับครูโรงเรียนบ้านผาลั้งไม่ได้ครับ ช่วงนั้นครูต้องจำเส้นทางจากGPSไว้ คือเส้นทางนั้นมันไม่ได้แยกไปไหนหรอกครับเป็นเส้นเดียวยาวสุดทาง แต่ที่น่ากลัวก็คือครูคาดคะเนทางข้างหน้าไม่ได้ ไม่รู้จะเป็นโค้งซ้ายหรือขวาจะมีรถสวนทางมาไหม หุบเหวก็เยอะ ฉะนั้นตอนไปต้องขับช้าๆแต่ตอนกลับพอรู้ทางแล้วซิ่งอย่างเดียวครับฮาๆๆ
พอไปถึงหมูบ้านนั้นเราทุกคนก็ต่างชื่นใจเพราะเห็นหมู่บ้านเห็นผู้คนและโรงเรียน โรงเรียนบ้านผาลั้งตั้งอยู่บนเนินสูงๆพื้นที่แคบๆ ในหมู่บ้านและโรงเรียนใช้แผงโซล่าเซลล์รัฐบาลซื้อให้แต่ถ้าพังต้องเสียเงินซ่อมเองครับ มีโทรศัพท์ใช้แต่หาสัญญาณยากมาก คือถ้าใครติดโทรศัพท์ไม่ต้องมาอยู่ที่นี่ครับลงแดงแน่นอน รอบแรกนั้นเมื่อเราไปถึงเราได้รับการต้อนรับจากคุณครูศูนย์เด็กเล็ก นักการภารโรง และเด็กๆ3คน บรรยากาศตอนนั้นครูรู้สึกว่าเมื่อสิ่งของจากผู้ใหญ่ใจดีที่เรารับมาซึ่งดองไว้เป็นปีนั้นมาถึงมือคุณครูและเด็กๆแล้ว ครูรู้สึกว่าโล่งอกไปแล้วครึ่งหนึ่ง เรารับมอบและถ่ายรูปกันสักครู่แล้วก็ต้องกลับเพราะตอนนั้นเวลาน่าจะประมาณใกล้19.00 นาฬิกาแล้ว เราต้องรีบลงจากเขาให้เร็วที่สุด กว่าจะถึงถนนใหญ่น่าจะใช้เวลา1ชั่วโมง 
          เรื่องลึกลับมีไหม? ไม่แน่ใจเหมือนกัน รอบที่2เด็กๆที่ไปด้วย2คนนั้นบอกว่า ตอนกลับนั้นช่วงที่ออกมาจากหมู่บ้านได้ไม่ไกลเท่าไหร่นักได้ยินเสียงผู้หญิงหัวเราะอยู่นอกรถ3-4ครั้ง และก็รู้สึกกลัวมาก แต่คนอื่นรวมทั้งครูไม่ได้ยินอะไรเลย ช่วงที่ขับรถลงจากเขานั้นโดยเฉพาะรอบที่2นั้นมืดมากไม่มีรถสวนทางมาเลยข้างหน้าเห็นแต่แสงรถของเราที่สาดไปข้างหน้าเท่านั้นกลัวว่าจะส่องไปเจออะไรๆสักอย่างยืนดักอยู่ข้างหน้าเหมือนในหนังผีนั่นแหละ รอบๆข้างมองไม่เห็นอะไรเลย แต่สุดท้ายเราก็บริจาคสิ่งของที่รับมาเต็มคันรถจากผู้ใหญ่ใจบุญได้ทั้งหมดและเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย





             เราได้อะไรจากการบริจาคในครั้งนี้? จริงๆครูนั้นอยากมาเป็นครูบนดอยด้วยเหตุผล2อย่าง คือ1เมื่อตอนเด็กนั้นครูมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินดังเป็นไอดอล เห็นในทีวีนั่นแหละเมื่อโตขึ้นเลยอยากมาอยู่กับอาจารย์ และ2อยากพัฒนาโรงเรียนบนดอย ก่อนจะมาสอบบรรจุที่เชียงรายนั้น ตอนเด็กนั้นเคยเห็นในทีวี เห็นความลำบากของโรงเรียนบนดอยเห็นครูต้องขับมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนด้วยความลำบาก ต้องผ่านถนนลูกรัง ผ่านโคลนกว่าจะถึงโรงเรียนก็เหนื่อยแทบขาดใจ ชีวิตและความรู้ของนักเรียนบนดอยขึ้นอยู่กับครูเท่านั้น อาคารเรียนเสื้อผ้าก็ขาดแคลน จะมีใครบ้างที่จะพยายามสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กดอยให้ดีขึ้นนอกจากจะเป็น “ครู” ตอนเป็นเด็กครูเห็นภาพเหล่านี้ในทีวี เห็นจากสารคดีพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่9บ้าง เห็นจากหนังสือเรียนบ้าง สิ่งเหล่านั้นมันเริ่มกอตัวเป็นอุดมการณ์สุดท้ายครูก็ได้มาเป็นครูที่เชียงราย ครูตั้งใจว่าจะไปเป็นครูบนดอยจะเลือกเอาโรงเรียนที่ทุรกันดารมากที่สุด ทางขึ้นหฤโหดที่สุด ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไปเพื่อที่จะบุกเบิกนั่นแหละครับ นะวันนี้ถึงจะไม่ได้เป็นครูบนดอยตามความฝันก็ตาม แต่การได้ไปบริจาคสิ่งของบนดอยนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการสัมผัสกับบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับความฝันที่สุดแล้วครับ แล้วทุกวันนี้อยากจะไปสอนนักเรียนบนดอยไหม? คงหมดเวลาแล้วครับอยากจะย้ายกลับไปพัฒนากันทรลักษ์บ้านเกิดของตัวเองมากกว่า แล้วจะมีโครงการบริจาคสิ่งของอีกไหม? ตอนนี้อยากจะบริจาคหนังสือและอุปกรณ์การเรียนครับ เด็กๆเหล่านั้นไม่รู้จักร้านหนังสือหรอกครับและโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลของพวกเขานั้นพ่อแม่ไม่สามารถให้ได้ พ่อแม่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย มีสิ่งเดียวที่เขาจะสัมผัสกับโลกภายนอกได้คือ “หนังสือ” แต่หนังสือนั้นพวกเขาได้อ่านแค่หนังสือเรียนเท่านั้นไม่มีโอกาสได้ซื้อที่ชอบหรอก ชีวิตของเขาตีบตันคิดอะไรไม่ออกนอกจากป่าเขาลำเนาไพรแค่นั้น หนังสือคือดวงตาที่สามที่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้เขารู้ว่าในโลกนี้นั้นนอกจากพื้นที่ด้ามขวานที่เขายืนอยู่แล้วนั้น ยังมีประเทศอื่นๆอีกมากมายหลายร้อยประเทศ... หนังสือคือดวงตาที่สามที่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้เขารู้ว่าดินสูงๆที่เขายืนอยู่นั้นยังมีดินข้างล่างที่ลึกกว่าหุบเหวอีกเต็มไปด้วยน้ำเค็มๆอันกว้างใหญ่ไพศาลเต็มไปด้วยฝูงปลาเล็กปลาใหญ่สุดแปลกๆสวยงามแหวกว่ายไปมาแถมยังมีต้นไม้ที่ดำดิ่งอยู่ใต้น้ำได้อีกด้วย หนังสือคือดวงตาที่สามที่สามารถเปิดโลกทัศน์ให้เขารู้ว่าบนหัวของเขานั้นเหนือก้อนเมฆเลยดวงจันทร์ไปทะลุดวงอาทิตย์นั้นยังมีวัตถุแสงสีเสียงอะไรๆต่อมิอะไรที่ดวงตาของเรามองไม่เห็นอีกมากมาย...
            คุณผู้อ่านทั้งหลายครับท่านเป็นนักอ่านประเภทไหน ประเภทอ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว หรือประเภทอ่านคนเดียวรู้และพัฒนาชีวิตตัวเองคนเดียว หรือประเภทอ่านเพื่อพัฒนาชีวิตตัวเองและคนอื่นๆด้วย ไม่ว่าท่านจะเป็นประเภทไหนก็ตามก็ไม่ผิดหรอกครับเงินท่านเองซื้อเองอ่านเอง แต่อย่าลืมนะครับว่า “หนังสือเล่มๆหนึ่งนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิตคนๆหนึ่งได้มาก คนเหล่านั้นอาจจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไกลตัวท่านเป็นร้อยๆกิโลเมตร เป็นบุคคลที่ท่านเองรู้จักหรือไม่ก็ตาม ถ้าหนังสือที่อยู่ในมือของท่านนั้นอ่านจบแล้ว เล่มเหล่านั้นมันอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจและสร้างชีวิตใหม่ให้กับใครๆบางคนได้นั้น มันก็คุ้มค่าที่จะหยิบออกมาจากชั้นวางหนังสือที่บ้านของท่านสักเล่มหนึ่ง แล้วใส่ซองเขียนชื่อพร้อมคำอธิฐานบริจาคให้บุคคลผู้โชคดีเหล่านั้นแล้วท่านจะได้บุญอย่างมหาศาล” ถ้ารู้อย่างนี้แล้วในชีวิตนี้ท่านจะทำหรือไม่




     
     
            ครูเองเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่แค่บอกคนอื่นว่ากำลังอ่านเล่มนี้อยู่ มีกิจกรรมอะไรๆมากมายเกี่ยวกับหนังสือ ครูขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “ครู” คงจะปฏิเสธคุณสมบัติอันล้ำค่านี้ไม่ได้หรอก ครูเป็นครูที่รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ ได้มาเป็นครูก็เพราะรักการอ่านนี่แหละ จะทำต่อไปและจะเป็นสะพานบุญให้กับนักอ่านทุกท่านครับ 
           เชื่อเถอะครับถ้าท่านไม่ได้ไปเห็นชีวิตเด็กบนดอยสูงกับตาตัวเองท่านอาจจะจินตนาการไม่ถึงว่าลำบากขนาดไหน ขอขอบคุณผู้ใจบุญทุกท่านที่บริจาคสิ่งของทั้งมือหนึ่งมือสองทุกท่าน บัดนี้สิ่งของเหล่านั้นได้ถึงมือเด็กๆเรียบร้อยแล้วครับ ขอบใจนักเรียนทุกคนที่อดทนต่อการเดินทางอันเเสนหฤโหดในครั้งนี้ด้วย สุดท้ายขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอ่านบทความนี้จนจบคงจะได้ข้อคิดอะไรบ้างนะครับ เจอกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ 
ครูปัญญา กายะชาติ ครูศิลปะ 11 พฤษภาคม 2562

























กลับจากบนดอยเราก็แวะกินก๋วยเตี๋ยวกันครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น